วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

การเลือกใช้น้ำมันเครื่อง

ในการทำงานของเครื่องยนต์ น้ำมันเครื่องถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นเสมือนตัวช่วยหล่อลื่น ลดการเสียดสีให้กับชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ที่เคลื่อนไหว ไม่ให้เกิดความเสียหาย ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับน้ำมันเครื่องที่นำมาใช้กับยานยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรถรุ่นใหม่ๆ ที่มีเทคโนโลยี่การผลิตเครื่องยนต์ที่ทันสมัย มีขนาดเครื่องยนต์ที่เล็กลง มีความเร็วรอบที่สูงขึ้น รวมถึงรถบางคันที่ปรับแต่งเพิ่มความแรงให้กับเครื่องยนต์ ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับน้ำมันเครื่องเป็นพิเศษ

การเลือกใช้น้ำมันเครื่อง
การเลือกใช้น้ำมันเครื่อง


การเลือกใช้น้ำมันเครื่องเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ตอบสนองการใช้งานได้เป็นอย่างดีนั้น ต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ ต่อไปนี้เป็นอย่างยิ่ง

  1. ชนิดของเครื่องยนต์ เป็นเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซล เป็นเครื่องที่มีตัวช่วยอัดอากาศ เช่น เทอร์โบ หรือไม่
  2. คุณภาพของน้ำมันเครื่องที่ใช้หล่อลื่น ต้องมีคุณสมบัติดี ในด้านการหล่อลื่น,  ลดการเสียดสีและการสึกหรอได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง และคุณสมบัติอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น สารเพิ่มดัชนีความหนืด สารต้านทานการรวมตัวกับออกซิเจน สารชะล้างและกระจายคราบเขม่า เป็นต้น เพราะเครื่องยนต์ต้องทำงานในสภาพใช้ความเร็วสูง, รอบการทำงานของเครื่องยนต์สูง และมีอุณหภูมิขณะใช้งานที่สูง
  3. ค่าความหนืดของน้ำมันเครื่องที่ใช้ จะต้องเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่มีค่าความหนืดเหมาะสมกับสภาพของเครื่องยนต์และสภาพการใช้งานควบคู่กันไปด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ผลิตเครื่องยนต์จะแนะนำ ชนิด ความหนืด และคุณภาพของน้ำมันเครื่องมาในคู่มือประจำรถอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับแต่งเครื่องยนต์ หรือเครื่องยนต์ถูกใช้งานมานาน (เครื่องยนต์หลวม) ควรพิจารณาชนิด ความหนืด และคุณภาพของน้ำมันเครื่องเป็นพิเศษด้วย

มาตรฐานน้ำมันเครื่อง

  1. มาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ (Society of Automotive Engineer : SAE) ใช้ระบุความหนืด (ความข้นใส) ของน้ำมันเครื่อง ค่ายิ่งมากก็ยิ่งมีความหนืดมาก โดยแบ่งน้ำมันเครื่องออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ
    • เกรดเดียว (monograde) คือน้ำมันเครื่องที่มีค่าความหนืดค่าเดียว เช่น SAE 40 หมายความว่า ณ อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสน้ำมันจะมีค่าความหนืดอยู่ที่ เบอร์ 40
    • เกรดรวม (multigrade) คือน้ำมันเครื่องที่มีค่าความหนืด 2 ค่า เช่น SAE 20W-50 หมายความว่า ในอุณหภูมิ -25 องศาเซลเซียส น้ำมันจะมีค่าความหนืดอยู่ที่ เบอร์ 20 แต่เมื่ออุณหภูมิสูงถึง 100 องศาเซลเซียส จะเปลี่ยนค่าความหนืดเป็น เบอร์ 50
    • อักษร "W" ใช้เป็นตัวบ่งบอกว่าค่าความหนืดนี้เป็นเกรดฤดูหนาว (วัดที่ -25 องศาเซลเซียส) หากไม่มีจะเป็นเกรดฤดูร้อน (วัดที่ 100 องศาเซลเซียส)
  2. มาตรฐานของสถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน (The American Petroleum Institute : API) ใช้ระบุประเภทของเครื่องยนต์ และสมรรถนะในการปกป้องชิ้นส่วนของเครื่องยนต์                                                                    

  • น้ำมันเครื่องหล่อลื่นเครื่องยนต์เบนซิน เรียกว่า S หรือ Servic Station Classification จะเรียงไปตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ โดยมีตัว S นำหน้า เช่น SA SB SC … SF SG ปัจจุบันมีถึง SM ซึ่งเป็นค่าสูงสุดในขณะนี้
  • น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ดีเซล เรียกว่า C หรือ Commercial ก็จะเหมือนกับเครื่องยนต์เบนซิน คือเรียงตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ มีตัว C นำหน้า คือ CA CB CC CD CE CF-4 ปัจจุบันมีถึง CI ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดในปัจจุบัน
การเลือกใช้น้ำมันเครื่องจึงมีความสำคัญมาก โปรดเลือกใช้น้ำมันเครื่องให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์มากที่สุด เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการปกป้องคุ้มครองเครื่องยนต์ของยานยนต์ทุกคัน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น